วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562


การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study)
พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง)
1. ความหมายของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study)
คำว่าการศึกษาชั้นเรียน เป็นคำที่คิดขึ้นมาเพื่อใช้แทนคำภาษาอังกฤษว่า Lesson Study โดยคำนี้เป็นคำที่ใช้แทนคำว่า Jugyokenkyu ในภาษาญี่ปุ่นอีกทีหนึ่ง คำว่า Jugyokenkyuประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ Jugyo ซึ่งหมายถึง ชั้นเรียน กับ kenkyu ซึ่งหมายถึงการศึกษา (study) หรือการทำวิจัย (research) Yoshida (2004 อ้างถึงใน นฤมล อินทร์ประสิทธิ์, 2552) การศึกษาชั้นเรียน จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า การศึกษาหรือวิจัยห้องเรียน นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านได้ให้ความหมายของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) ไว้ดังนี้
Lewis (2002 อ้างถึงในนฤมล อินทร์ประสิทธิ์, 2552) กล่าวว่า การศึกษาชั้นเรียน คือ รูปแบบหลักในการพัฒนาวิชาชีพครูที่ถูกเลือกโดยครูญี่ปุ่น
Baba and Kojima (2004 อ้างถึงในลัดดา ศิลาน้อย และคณะ, 2560) กล่าวถึงกระบวนการศึกษาชั้นเรียนว่า เป็นวิธีการที่แสดงถึงความร่วมมือกันทำงานของคณะครู เพื่อพัฒนาคุณภาพของบทเรียน ซึ่งสร้างขึ้นจาก 3 ขั้นตอน กล่าวคือ 1) การวางแผนการจัดการเรียนรู้ (Study of teaching materials) 2) การนำบทเรียนไปใช้ (The experimental lesson) และ 3) การสะท้อนผลบทเรียน (Lesson discussion) และสามารถที่จะนำการศึกษาชั้นเรียนไปใช้ในหลาย ๆ รูปแบบ อาจจะกล่าวได้ว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นจริงทุกวันในญี่ปุ่น ครูที่นำไปใช้เริ่มต้นจากการปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสอน และใช้เวลาในการมีส่วนร่วมเพื่อพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของการสอนในชั้นเรียนแต่ละวัน 
Yoshida (2004 อ้างถึงในนฤมล อินทร์ประสิทธิ์, 2552) ให้ความหมายของการศึกษาชั้นเรียนไว้ว่า หมายถึง แนวทางการพัฒนาวิชาชีพที่นิยมในญี่ปุ่น เป็นแนวทางที่ครูทำงานร่วมมือกันเพื่อศึกษาเนื้อหา การสอน วิธีการแก้ปัญหา และวิธีการที่จะทำเพื่อให้เกิดความเข้าใจของนักเรียน ในอันที่จะปรับปรุงการสอนและการเรียน
Wang (2006 อ้างถึงในนฤมล อินทร์ประสิทธิ์, 2552) ให้ความหมายของการศึกษาชั้นเรียนไว้ว่า เป็นรูปแบบของการเรียนรู้เชิงวิชาชีพในระยะยาวที่ครูเป็นผู้นำเอง (Long-term teacher-led professional learning) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ที่ครูจะทำการวิจัยอย่างมีระบบ (Systematically) และร่วมมือกัน (Collaboratively) เกี่ยวกับการสอนและการเรียนในชั้นเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีของนักเรียนและเพื่อปรับปรุงการสอนของตัวครูเอง
นอกจากนั้น Wang (2006) ยังได้กล่าวอีกว่า การศึกษาชั้นเรียนเป็นแนวทางที่สมบูรณ์ในการเรียนรู้เชิงวิชาชีพที่ช่วยให้ครูสามารถพัฒนาแนวทางต่าง ๆ ต่อไปนี้
1) คิดเกี่ยวกับการเรียนรู้และการสอนในชั้นเรียน
2) วางแผนการสอน
3) สังเกตว่านักเรียนคิดอย่างไร เรียนรู้อย่างไร และมีปฏิกิริยาอะไร
4) สะท้อนผลและอภิปรายเกี่ยวกับการสอน
5) รู้และแยกแยะได้ว่าความรู้และทักษะที่จำเป็นที่จะช่วยปรับปรุงการปฏิบัติการสอนและหาหัวข้อใหม่ ๆ
Baba (2007, อ้างถึงในนิศากร บุญเสนา, 2555) กล่าวว่าการศึกษาชั้นเรียน หมายถึง กระบวนการที่ครูได้พยายามพัฒนาการสอน โดยการทำงานร่วมกับครูคนอื่นในการตรวจสอบและวิพากษ์วิธีการสอนของแต่ละคน และจุดสำคัญของการศึกษาชั้นเรียนคือทุก ๆ ขั้นตอนของกระบวนการเป็นการทำงานร่วมกันของครู
Lerman & Zehetmeier (2008, อ้างถึงในนิศากร บุญเสนา, 2555) กล่าวว่า การศึกษาชั้นเรียนเป็นกรอบแนวคิดที่ครอบคลุมการศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนมากที่สุด โดยกลุ่มครูในโรงเรียนจะมาร่วมกันวิเคราะห์บทเรียนอย่างลึกซึ้ง เพื่อพัฒนาบทเรียน โดยครูคนหนึ่งสอนบทเรียนที่ได้มีการปรับปรุงและมีการสังเกตจากครูคนอื่น ๆ จากนั้นมีการพบกันเพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น
Takahashi (2010, อ้างถึงในนิศากร บุญเสนา, 2555) กล่าวว่า การศึกษาชั้นเรียน เป็นกระบวนการที่ครูและนักการศึกษาญี่ปุ่นใช้ในการพัฒนาวิชาชีพ โดยเน้นการพัฒนาทักษะที่เชี่ยวชาญในการสอนคณิตศาสตร์ ประกอบด้วย การพัฒนาบทเรียนให้เหมาะสมกับนักเรียน เทคนิคการตั้งคำถาม ทักษะการออกแบบ และการนำการประเมินไปใช้คาดการณ์การตอบสนองต่อคำถามของนักเรียนและทักษะการสังเกตนักเรียนอย่างมีเป้าหมาย และเพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าว ครูต้องวางแผนไว้และสะท้อนผลการสอนและการเรียนรู้จากการสังเกตอย่างละเอียดรอบคอบ สอนตามบทเรียนที่ได้วางแผนไว้ละสะท้อนผลการสอนและการเรียนรู้จากการสังเกตุอย่างละเอียด
นฤมล อินทร์ประสิทธิ์ และสุลัดดา ลอยฟ้า (2550) กล่าวว่า การศึกษาชั้นเรียน เป็นแนวคิดหนึ่งที่ครูในประเทศญี่ปุ่นใช้เพื่อพัฒนาวิชาชีพมาเป็นเวลานาน การศึกษาชั้นเรียนสำหรับครูญี่ปุ่น คือการ “ศึกษา” ด้วยการดำเนินตามขั้นตอน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่คูทุกคนจะทำร่วมกัน การศึกษาชั้นเรียนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนในบริบทของประเทศไทย ดังนี้
1. ครูมีความเข้าในและมีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตนเอง มีการปรับเปลี่ยนวิธีการและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่ได้พัฒนาปรับปรุงจากกระบวนการศึกษาชั้นเรียน
2. ครูมีมุมมองเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และตัวนักเรียนเปลี่ยนไป โดยมองว่าการที่ครูจะบอกหรือสอนให้นักเรียนทำอะไร หรือทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ง่ายและเด็กทำได้ แต่การจะสอนให้เด็กทำได้และคิดได้ด้วย รวมถึงรู้ที่มาที่ไป และมีเหตุผลมาสนับสนุนเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำได้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ซึ่งจะทำให้เกิดได้ปัจจัยหนึ่ง คือ ตัวกิจกรรมที่ครูร่วมกันคิดและบทบาทของครูที่เปลี่ยนไปจากเดิม
3. เกิดการสร้างเครือข่ายและระบบการนิเทศภายในโรงเรียน โดยทุกครั้งที่มีการจัดการเรียนการสอน ครูคนอื่นจะเข้าร่วมสังเกตและสะท้อนผลร่วมกัน
4. ครูมีโอกาสได้ร่วมกันสร้างแผนการสอน สังเกตชั้นเรียน และสะท้อนผลร่วมกันทุกครั้งหลังการสอน และทุกสัปดาห์ ซึ่งสามารถช่วยให้การจัดการเรียนการสอนพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน
5. สำหรับตัวนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนจะรู้สึกว่าสามารถนำเรื่องราวในชีวิตประจำวันมาใช้ในชั้นเรียนได้ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน รู้จักการทำงานร่วมกัน กล้าแสดงออก พูดเสียงดัง และสามารถออกไปนำเสนองานหน้าชั้นเรียนได้ ชอบที่จะทำกิจกรรมและออกไปนำเสนอแนวคิดและวิธีการของกลุ่มตัวอย่าง กล้าคิดให้แตกต่างและหลากหลาย กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น รวมทั้งอยู่กับปัญหาได้นาน มีเจตคติที่ดีต่อการทำงานกับผู้อื่น
นฤมล อินทร์ประสิทธิ์ (2552) ให้ความหมายของการศึกษาชั้นเรียนไว้ว่า เป็นนวัตกรรมในการพัฒนาวิชาชีพแนวทางหนึ่งที่กระทำโดยครูในโรงเรียน โดยการที่ครูทำกิจกรรมร่วมกันอย่างน้อย 4 กิจกรรม คือ 1) พัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ 2) จัดการเรียนรู้และสังเกตการจัดการเรียนรู้            3) สะท้อนผลชั้นเรียน และ4) ช่วยกันสรุปผลการเรียนรู้ของตนเอง การศึกษาชั้นเรียนเป็นนวัตกรรมในการพัฒนาวิชาชีพครูที่สามารถช่วยให้ครูพัฒนาตัวเองและพัฒนานักเรียนไปพร้อมกัน  
นภาพร วรเนตรสุดาทิพย์ (2554) กล่าวว่า นวัตกรรม Lesson study เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยในการพัฒนาวิชาชีพครู เพราะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ครูได้ปรับปรุงการสอนด้วยตัวเอง(teacher-led instruction improvement) และทำให้ครูเกิดความรู้สึกที่จะพัฒนาวิชาชีพครูภายใต้กระบวนการปรับปรุงการสอนด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะจุดประสงคหลักหรือจุดเน้นที่จะทำใหเกิดผลคือนักเรียน ดังนั้นการนำแนวทางนี้มาใชในการสอนของครูไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหา วิธีการสอน สื่อการสอน ที่นำมาใชจะเกิดผลตอการเรียนรูของนักเรียนมาก ขอดีของรูปแบบ Lesson study คือ ช่วยลดอุปสรรคเรื่องจำนวนเด็กต่อห้องเรียนที่มากเกินไปได้ และครูจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาแผนการเรียนรู้จนทำให้เกิดการวิจัยขึ้นได้ การเรียนแบบเปิดในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เป็นการเนนให้นักเรียนเสาะหาคำตอบโดยได้ร่วมกันคิด นักเรียนแต่ละคนจะมีประสบการณในการเรียนรูที่แตกต่างและการหาเหตุผลมาสนับสนุนและเด็กนักเรียนจะได้อภิปรายผลร่วมกัน โดยครูและนักเรียนจะร่วมสรุปประเด็นความรู้ได้
ลัดดา ศิลาน้อย และคณะ (2560) กล่าวว่า การศึกษาชั้นเรียน หมายถึง ระบบการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยกระบวนการในลักษณะที่ครูจะต้องทำการวิจัยอย่างเป็นระบบและร่วมมือกัน โดยมีการวางแผนการจัดการเรียนรู้และสะท้อนผล อภิปรายเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาการคิด รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน

2. ขั้นตอนการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study)
Lewis (2002 อ้างถึงในนฤมล อินทร์ประสิทธิ์, 2552) กล่าวถึงการศึกษาชั้นเรียนโดยครูญี่ปุ่นมีวัฏจักรการทำงานหรือวงจรของการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study Cycle) ดังนี้
1. ตั้งเป้าหมายและวางแผน
วิเคราะห์เป้าหมายสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน และการพัฒนาระยะยาว ออกแบบวางแผนการสอนร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งสร้างแผนการวิจัยบทเรียน (Research lesson) ที่จะสังเกต
2. วิจัยการสอน
สอนด้วยแผนการสอนที่เตรียมไว้ สังเกตการสอน และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการคิดของนักเรียน การเรียนรู้ของนักเรียน การมีส่วนร่วม พฤติกรรม และอื่น ๆ
3. การอภิปรายเกี่ยวกับการสอน
แลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมกันพิจารณาว่า หลักฐานที่แสดงว่านักเรียนไปถึงเป้าหมายคืออะไร และการพัฒนาเกิดขึ้นหรือไม่ ควรพัฒนาการสอนของตนเองอย่างไร
4. สรุปผลการเรียนรู้ของครู
ถ้าจำเป็นก็ขัดเกลา และสอนใหม่อีกครั้ง เขียนรายงานที่ประกอบด้วยแผนการสอน ข้อมูลนักเรียน และสะท้อนผลว่าได้เรียนรู้อะไร
Fernandes and Yoshida (2004 อ้างถึงในนิศากร บุญเสนา, 2555) ได้กล่าวถึงขั้นตอนขั้นตอนของการศึกษาชั้นเรียนไว้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 วางแผนบทเรียนร่วมกัน
เริ่มต้นจากการทำงานด้วยบทเรียนที่จะศึกษา โดยครูมารวมกันเพื่อวางแผนบทเรียน บทเรียนนี้ถูกสร้างร่วมกันอย่างละเอียดรอบคอบ ครูแสดงความคิดเห็นร่วมกันเพื่อวางแผนบทเรียนให้ดีที่สุด โดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา การสังเกตนักเรียนในชั้นปัจจุบัน คู่มือครู หนังสือเรียนและหนังสือจากแหล่งอื่น ๆ ผลผลิตสุดท้ายที่ได้จากขั้นตอนแรกคือแผนการสอนที่มีการอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ที่ทางกลุ่มวางแผนไว้เพื่อบทเรียนและขั้นเรียน
ขั้นตอนที่ 2 สังเกตชั้นเรียน
ครูหนึ่งคนจากกลุ่มสอนบทเรียนนั้นแก่นักเรียน การนำไปใช้ในลักษณะนี้มีความเป็นส่วนรวม เพราะครูคนอื่น ๆ อยู่ในสถานะของผู้สังเกต ครูผู้สังเกตมาที่ชั้นเรียนโดยมีแผนการสอนอยู่ในมือ ซึ่งครูผู้สังเกตใช้แผนการสอนในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยกำหนดทิศทางในการสังเกตชั้นเรียนว่าอะไรคือสิ่งที่เฝ้ารอจากชั้นเรียน
ขั้นตอนที่ 3 อภิปรายชั้นเรียน
ครูมารวมกันเพื่อสะท้อนผลถึงบทเรียน ชั้นเรียนที่ได้เห็นจากห้องเรียนจริง โดยครูแลกเปลี่ยนความติดเห็นร่วมกันกับสิ่งที่สังเกตได้ การตอบสนองและข้อเสนอแนะ
ขั้นตอนที่ 4 ปรับปรุงบทเรียน (ให้เลือกได้)
บางกลุ่มอาจหยุดการศึกษาชั้นเรียนไว้ หลังจากที่ได้อภิปรายร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่สังเกตได้จากชั้นเรียน แต่บางกลุ่มอาจเลือกที่จะปรับปรุงและสอนบทเรียนนั้นใหม่ซึ่งก็ยังคงสามารถเรียนรู้จากบทเรียนนี้ได้อีก กระบวนการการปรับปรุงใหม่นี้นำไปสู่การสร้างแผนการสอนที่มีการปรับให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ครูได้ตัดสินใจเลือกในการวางแผนการสอน
ขั้นตอนที่ 5 การสอนบทเรียนที่ได้มีการปรับปรุง (ให้เลือกได้)
สมาชิกลำดับที่สองของกลุ่มอาจนำบทเรียนที่ได้มีการปรับปรุงนี้ไปสอนแก่นักเรียน โดยสมาชิกคนอื่น ๆ ก็ยังคงมาสังเกตชั้นเรียนเช่นเดิม ในบางครั้ง หากครูไม่สามารถเข้าร่วมได้ทั้งสองบทเรียน ครูมักเลือกที่จะมาสังเกตการนำบทเรียนไปใช้ในครั้งที่สอง ซึ่งส่วนมากแล้วจะนำเสนอถึงสิ่งที่สำคัญ ๆ จากการทำงานของกลุ่มในบทเรียนนั้น ๆ และเป็นเรื่องที่หาได้ยากมากที่จะเห็นครูคนเดิมสอนบทเรียนนี้สองครั้งในชั้นเรียนเดิมหรือในชั้นเรียนอื่นก็ตาม เหตุผลหนึ่งสำหรับแนวโน้มที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเมื่อครูและนักเรียนแตกต่างไปจากเดิม ก็จะทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น และนอกจากนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้ครูคนอื่น ๆ ได้สอนต่อหน้าผู้อื่นด้วยและก็เป็นเรื่องที่หาได้ยากที่ทางกลุ่มจะปรับปรุงบทเรียนและสอนใหม่เป็นครั้งที่ 3 เพราะว่ากลุ่มได้เรียนรู้เป็นอย่างมากจากการตรวจสอบบทเรียนนั้น ๆ เมื่อพิจารณาโดยรวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นแล้วพบว่า ควรที่จะไปสู่บทเรียนใหม่มากกว่าการปรับปรุงบทเรียนเดิมซ้ำ ๆ และก็เป็นการไม่สมเหตุสมผลถ้ายังคงสอนบทเรียนเดิม ๆ ในขณะที่เวลาผ่านไปและนักเรียนก็ต้องผ่านหลักสูตร
ขั้นตอนที่ 6 ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับบทเรียนที่ได้มีการปรับปรุง
ครูมารวมกันอีกครั้งเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็น เมื่อบทเรียนที่ได้ปรับปรุงถูกนำไปสอน ซึ่งยังคงให้ความสำคัญไปที่การร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสังเกตชั้นเรียน ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และเป็นเรื่องปกติในระหว่างการประชุมของการศึกษาชั้นเรียน ที่ครูได้ร่วมกันสะท้อนผลเกี่ยวกับชั้นเรียนที่ได้สังเกต โดยสมาชิกจะได้รับการจัดสรรเวลาสำหรับการลงรายละเอียดของสิ่งที่จะสะท้อนผล ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้กลุ่มสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต สำหรับการอ้างอิงจากการบันทึกทุก ๆ แนวคิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้เรายังสามารถอภิปรายในภายหลังได้อีกด้วย การบันทึกมีประโยชน์มาก ๆ เมื่อครูต้องกลับมาเขียนรายงานเกี่ยวกับงานของครูเอง
Baba (2007 อ้างถึงในนิศากร บุญเสนา, 2555) กล่าวถึงขั้นตอนของการศึกษาชั้นเรียน ดังนี้
1. การวางแผนการสอน (preparation) เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนจากหลักสูตรระดับโครงสร้าง (planned curriculum) เช่น หลักสูตรของชาติหรือหนังสือเรียน ไปสู่หลักสูตรที่สามารถนำไปใช้ในชั้นเรียน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการศึกษาชั้นเรียน
2. การสอน (actual class) ชั้นเรียนถูกสอนตามแผนการสอน (teaching plan) ที่ได้วางแผนไว้ ชั้นเรียนถูกสังเกตจากครูหลายคน ซึ่งในบางครั้งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการทางการศึกษาและช่วงของการสะทอนผลชั้นเรียนของผู้สังเกตทุก ๆ คนจะเกิดขึ้นหลังจากการสอนเสร็จสิ้น
3. การสะท้อนผลชั้นเรียน (class review) ผู้สอนจะแนะนำและอธิบายบทเรียนโดยสังเขป ซึ่งเป็นไปตามแผนการสอนที่ได้แจกไปก่อนหน้านี้ โดยจะอธิบายในประเด็นต่อไปนี้ คือ เป้าหมายของชั้นเรียน แนวคิดของสื่อและอุปกรณ์ (teaching material) และลักษณะหรือสภาพการณ์ของนักเรียนที่เกิดขึ้นที่สอดคล้องกับแต่ละขั้นตอนของชั้นเรียน รวมถึงอธิบายความเป็นมาของแต่ละปัญหาและกิจกรรมที่ใช้ในชั้นเรียนด้วย จากนั้นสมาชิกคนอื่น ๆ เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การสอนของพวกเขา เพื่อแสดงความคิดเห็นและถามคำถามเกี่ยวกับปัญหาที่ได้นำไปใช้ในชั้นเรียน บทบาทการสอนของครูรวมถึงการพูด (utterances) และกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน เป้าหมายของการสะท้อนผลชั้นเรียน คือค้นหาวิธีในการปรับปรุงชั้นเรียน โดยการวิเคราะห์ความไม่สอดคล้องกันระหว่างเป้าหมายของชั้นเรียนที่ได้สร้างขึ้นหรือแผนการสอนที่ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการนี้จะช่วยให้สามารถค้นพบปัญหาใหม่ ๆ หรือประเด็นที่ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในตอนแรก
นฤมล อินทร์ประสิทธิ์ (2552) กล่าวถึงขั้นตอนการศึกษาชั้นเรียนว่า ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การวางแผนการวิจัยร่วมกัน แล้วร่วมกันเขียนแผนการจัดการเรียนรู้
2. จัดกิจกรรมการเรียนรู้และสังเกตการจัดการเรียนรู้
3. อภิปรายและวิเคราะห์การจัดการเรียนรู้
4. สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของกลุ่ม และวางแผนการทำงานในขั้นต่อไป
โกสุม กรีทอง (2553) กล่าวว่า กระบวนการของ Lesson Study โดยทั่วไปประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. Problem Identification กำหนดประเด็นที่จะสอน ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักเรียน (1)
2. Class planning วางแผนการสอน โดยเน้นที่นักเรียนและครูเป็นสำคัญ (2)
3. Class implementation นำแผนการสอนไปใช้ โดยเน้นบทเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้และกระบวนการคิดของนักเรียน และแก้ไขความเข้าใจคลาดเคลื่อน (3)
4. Class evaluation and review of result ประเมินผลบทเรียนว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร และร่วมกันอภิปรายสะท้อนความคิด (4)
5. Reconsideration of class ปรับปรุงบทเรียนโดยอาศัยข้อมูลที่รวบรวมได้ (5)
6. Implementation base on reconsideration นำแผนการสอนที่ปรับปรุงแล้วมาสอนนักเรียนกลุ่มอื่น (6)
7. Evaluation and review ประเมินผลบทเรียนและร่วมกันอภิปรายสะท้อนความคิดเกี่ยวกับบทเรียน (7)
8. Share result นำผลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ซึ่งสามารถสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้

ภาพที่ 1 กระบวนการของ Lesson Study (โกสุม กรีทอง 2553)
ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ (2560) กล่าวถึงขั้นตอนของ lesson Study ไว้ 3 ขั้นตอน เพื่อให้ครูสามารถทำงานร่วมกันได้ทุกสัปดาห์ เพื่อให้เกิดวงจรการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อการพัฒนา ดังนี้
ขั้นที่ 1 การร่วมมือกันวางแผน (Plan)
ในขั้นตอนนี้ ครู ครูผู้สังเกต ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ ที่เข้าร่วมในกลุ่มการศึกษาชั้นเรียน ร่วมกันสร้างแผนการจัดการเรียนรู้โดยพยายามเอาเนื้อหาสาระที่ต้องการสอนมาทำให้อยู่ในรูปสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด (Open – ended Problem) จากนั้นพยายามทำสถานการณ์ปัญหาปลายเปิดดังกล่าวให้อยู่ในรูปกิจกรรมโดยใช้คำสั่งง่าย ๆ ประมาณ 2 – 3 คำสั่ง ในขั้นตอนนี้ผู้เข้าร่วมสร้างแผนทุกคนต้องช่วยกันออกแบบสื่อหรืออุปกรณ์ (Material Design)
ขั้นที่ 2 การร่วมมือกันสังเกตการสอน (Do)
ในขั้นตอนนี้ครูคนหนึ่งจากทีมที่ร่วมกันสร้างแผน จะเป็นคนนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้จริงในชั้นเรียน โดยดำเนินการสอนตามวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งโนดะ (Nohda, 2000) ได้เสนอแนวคิดเชิงการสอนไว้ว่า ครูเริ่มต้นการสอนโดยการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาปลายเปิดต่อนักเรียนเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม สำรวจหรือสืบเสาะเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งการอภิปรายในกลุ่ม จากนั้นจึงให้มีการอภิปรายทั้งชั้น ส่วนครูคนอื่นและผู้ช่วยนักวิจัยทำหน้าที่สังเกตการสอนในชั้นเรียน โดยเป้าหมายของการสังเกต คือ การสังเกตกระบวนการคิดของนักเรียน โดยไม่เน้นการพิจารณาความสามารถในการสอนของครูในการจัดการชั้นเรียน
ขั้นที่ 3 การร่วมมือกันสะท้อนผล (See)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากต่อการเรียนรู่ร่วมกันระหว่างคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นครู ครูผู้สังเกต ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และนักวิจัย รวมทั้งศึกษานิเทศก์และผู้เชี่ยวชาญ การร่วมกันสะท้อนผลเพื่อปรับปรุงบทเรียนที่ถูกนำเสนอผ่านแผนการจัดการเรียนรู้ ทำให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสทำความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งแนวคิดต่าง ๆ ที่นักเรียนตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาที่กำหนดขึ้น
ซึ่งสามารถสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้




 


                    ภาพที่ 2 วงจรการศึกษารายสัปดาห์ของการศึกษาชั้นเรียน (lesson Study)
(ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, 2560)



เอกสารอ้างอิง
โกสุม กรีทอง. (2553). ทำความรู้จักกับ Lesson Study. ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2561, จาก http:// www.scimath.org/article-mathematics/item/606-lesson-study
ฐิตารีย์ ศรีพรหม. (2556). การพัฒนาทักษะกระบวนการแก้ปัญหาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานโดยกระบวนการ Lesson Study เรื่องประเด็นปัญหาสังคมกลุ่มประชาคมอาเซียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
นภาพร วรเนตรสุดาทิพย์. (2554). การศึกษาชั้นเรียน (Lesson study): แนวคิดใหม่ในการพัฒนาวิชาชีพครู. วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 1(2), 86 – 99.
นฤมล อินทร์ประสิทธิ์. (2552). การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study): นวัตกรรมเพื่อพัฒนาครูและนักเรียน.วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
นฤมล อินทร์ประสิทธิ์ และสุลัดดา ลอยฟ้า. (2550). การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study): นวัตกรรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูภาษาไทย. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2 – 3(30), 25 - 40
นิศากร บุญเสนา. (2555). ผลของการใช้การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดที่มีต่อนักศึกษาปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา คณิตศาสตรศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
มตรี อินทร์ประสิทธิ์. (2560). การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study). ในลัดดา ศิลาน้อย, อังคณา ตุงคะสมิต, ปิยะวรรณ ศรีสุรักษ์, และมณฑา ชุ่มสุคนธ์. การพัฒนาครูแนวใหม่ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนให้ตอบโจทย์ความต้องการครูในศตวรรษที่ 21 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้นประถมศึกษา. ขอนแก่น: สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์. (2560). การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคลากรทางการศึกษา ในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ขอนแก่น: แอนนาออฟเซต.
ลัดดา ศิลาน้อย. (2548). สรุปผลโครงการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธี Lesson Study Approach. ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ลัดดา ศิลาน้อย, อังคณา ตุงคะสมิต, ปิยะวรรณ ศรีสุรักษ์, และมณฑา ชุ่มสุคนธ์. (2560). การพัฒนาครูแนวใหม่ ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนให้ตอบโจทย์ความต้องการครูในศตวรรษที่ 21 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้นประถมศึกษา. ขอนแก่น: สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สุลัดดา ลอยฟ้า. (2552). คู่มือการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการพัฒนาวิชาชีพครูคณิตศาสตร์ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach). ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.